เกาะทะลุ เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่กลางอ่าวไทย มีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ ลักษณะสัณฐานคล้ายรูปปลาวาฬตัวมหึมา หันด้านหน้าชายหาดเข้าหาฝั่งแผ่นดิน ด้านหลังเป็นหน้าผาสูงแนวสันเขาทอดยาวจากทิศเหนือจรดใต้ มีหาดทรายขาวสะอาด 3 อ่าว ได้แก่ อ่าวใหญ่ อ่าวมุก และอ่าวเทียน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำการเกษตรสวนมะพร้าว และบริเวณรอบ ๆ เกาะทะลุยังเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรทางทะเลสูง โดยเฉพาะหลังจากเดือนมกราคม ลมหนาวจะพัดพาทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ จากปลายแหลมยวน – อ่าวตังเกี๋ย เข้ามาประทะชายฝั่งอ่าวไทยที่อำเภอบางสะพาน – เกาะทะลุ ทำให้พื้นที่นี้เป็นเป้าหมายของชาวประมง ในอดีตเรือประมงหลายพันลำเข้ามาจับปลากันอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งยังมีการทำประมงโดยใช้ระเบิด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูทะเลไทย โดยเริ่มทดลอง
โครงการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนที่อ่าวบางสะพาน เป็นแห่งแรกของประเทศไทย จัดอบรมสร้างจิตสำนึกในการทำการประมงอย่างมีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ ให้กับชาวประมงในเขตพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง มีการวางปะการังเทียมหลายพันก้อนลงสู่ก้นทะเล เพื่อเป็นบ้านของพ่อแม่พันธุ์ปลาให้อาศัยวางไข่ เพิ่มผลผลิตทางประมงให้อ่าวไทย และยังเป็นแนวเขื่อนใต้ทะเลกั้นอวนลากของเรือประมงใหญ่ที่เคยเข้ามาทำประมงในบริเวณน้ำตื้นนี้ ส่งผลให้ระบบนิเวศที่ใต้ท้องงทะเลสมดุล รายได้และความเป็นอยู่ของชาวประมงที่ดีขึ้น ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน ลดปัญหาความขัดแย้ง นับเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น
ในปัจจุบัน ท่านจะพบว่าพื้นที่บริเวณเกาะทะลุ – อ่าวบางสะพาน ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แนวปะการังที่เคยเสื่อมโทรมจากการทำประมงโดยใช้ระเบิดกลับฟื้นคืนชีวิต สร้างสีสันดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาชื่นชมความสวยงามของโลกใต้ท้องทะเลอ่าวไทย ฝูงปลานานาชนิดแหวกว่ายอยู่ในแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์ ทัศนียภาพบนเกาะที่ยังคงรักษาสภาพความเป็นธรรมชาติ ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้พื้นถิ่นเขียวขจี ทิวทัศน์อันสวยงามด้านหลังเกาะบริเวณหน้าผาสูง น้ำทะเลใสจากชายหาดขาวสะอาดที่ขับเป็นสีทองยามกระทบแสงอาทิตย์อัสดงที่กำลังจะลับขอบเขาตะนาวศรี จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่สำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
One thought on “ประวัติเกาะทะลุ”